Friday, May 27, 2011

เกร็ดเมืองเก่า

ภาพบ้านเลขที่ 70-74 ถ.ศรีสุนทร อ.เมือง จ.ยโสธร (ร้านเตี่ยเจ๊กน้อย) สร้างเมื่อปี พ.ศ.2455 ปีหน้าก็จะอายุครบ 100 ปีครับ ภาพบนด้านซ้ายไม่ทราบ ปีที่ถ่ายระดับถนนยังต่ำกว่าระดับพื้นบ้านประมาณ 30-50 ซม. หน้าร้านมีราวไว้ผูกม้าหรือวัวเทียมเกวียนที่ลูกค้าโดยสารมาซื้อของ ลูกค้าผู้หญิงที่ยืนอยู่หน้าร้านยังแต่งตัวแบบโบราณ (นุ่งผ้าคล้ายโจงกระเบน ผ้าคาดอก) ห้องเล็กริมขวามือสุด (มีจักรยานจอดอยู่) เป็นคอกม้า ขยับไปทางขวามือต่อมาเป็นโรงภาพยนตร์เริ่มแรกเป็นอาคารไม้ ต่อมาจึงสร้างเป็นตึก ภาพบนขวาถ่ายเมื่อปี พ.ศ.2554 (บ้านอายุ 99 ปี) บ้านยังคงอยู่ในสภาพใกล้เคียงของเดิม แต่ระดับถนนสูงขึ้นมาเท่าระดับพื้นบ้าน ต้องยกพื้นบ้านให้สูงขึ้น ยกระดับหลังคาด้านหน้าขึ้นเล็กน้อยประตูบ้านที่เป็นไม้บานพับยังอยู่แต่ทำประตูเหล็กบังไว้ บ้านหลังนี้คนในตระกูลอยู่ต่อเนื่องกันมาขณะนี้จนถึงรุ่นที่ 5 ยังประกอบกิจการค้าขายและทำยาแผนโบราณต่อเนื่องกันมาครับ ห้องเล็กริมสุดถัดจากประตูเหล็กที่เคยเป็นคอกม้ายังคงอยู่ ตึกสีแดงคือโรงภาพยนตร์ยโสธรภาพยนตร์ (สร้างเป็นอาคารคอนกรีตประมาณ 2513 ปีที่แน่นอนต้องถามคุณตาอดุลย์ เยรบุตร) โรงภาพยนตร์นี้ แผ่นโฟมที่ใช้บุผนังกันเสียงสะท้อนเป็นกล่องโฟมที่ใช้บรรจุลูกระเบิดที่ใช้ในสมัยสงครามเวียดนาม ลักษณะเป็นกล่องขนาดใหญ่เซาะร่องเพื่อบรรจุลูกระเบิดขนาดใหญ่ สามารถนำไปใช้เป็นเรือพายให้เด็ก ๆ นั่งเล่นได้ 2-3 คน ซื้อมาจาก จ.อุบลราชธานี ซึ่งสมัยนั้นยังมีฐานทัพของทหารอเมริกันอยู่ จึงหาซื้อกล่องโฟมนี้ได้ง่าย ทราบว่าปัจจุบันกล่องโฟมเหล่านี้ยังคงอยู่ในสภาพเดิม
(อนุเคราะห์ข้อมูลโดย ทพ.อำนวยศิลป์ ครุสันธิ์ 7 พฤษภาคม 2554)

Wednesday, February 9, 2011

เหรียญเมืองยศ

เบิ่งเมืองยศผ่านเหรียญ

ทพ.อำนวยศิลป์ ครุสันธ์ ได้แลกเปลี่ยนมุมมองการมองประวัติศาสตร์ยโสธรผ่านเหรียญที่ระลึกต่างๆ
(ได้รับการอนุเคราะห์ข้อมูลเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2554)




ภาพด้านหน้าและด้านหลังของเหรียญที่แจกในงานฉลอง พระบรมเจดีย์ศรีโสธร เป็นเหรียญที่ได้รับมาในขณะที่ไปช่วยกันเตรียมงานฉลองพระเจดีย์ (น่าจะจัดขึ้นในวันที่ 24 มีค.2514 ตามที่ปรากฏในเหรียญ) โดยหลวงตาพวงท่านนำมาแจกจ่ายให้ (น่าจะมีแจกในช่วงวันงานด้วย เป็นเหรียญที่เก็บไว้ในหิ้งพระที่บ้านมาโดยตลอด เมื่อนำออกมาดูผมพบว่าด้านหน้าเป็นภาพของ พระเทพปัญญามุนี ผมจึงได้นำไปเรียนถามกับคุณตา อดุลย์ เยรบุตร ซึ่งเป็นอาเขยว่า พระเทพปัญญามุนีท่านมีความสำคัญอย่างไรได้สร้างเหรียญที่ระลึกนี้เป็นรูปของท่าน เพราะในขณะที่ทำการก่อสร้างเจดีย์นั้น คุณตาอดุลย์ ท่านจะเป็นผู้ที่ไปดูแลการก่อสร้าง ท่านจึงให้ข้อมูลมาดังนี้


พระเทพปัญญามุนี (เฉย ยโสธโร) เป็นชาวยโสธรโดยกำเนิด เมื่อปี พ.ศ. 2461 ท่านได้อุปสมบทที่วัดสร่างโศรก ต่อมาในปี พ.ศ. 2466 ท่านได้ย้ายไปอยู่ที่วัดสัมพันธวงศ์ เมื่อไปอยู่ที่วัดสัมพันธวงศ์ท่านได้มีส่วนในการพัฒนาวัดในด้านต่าง ๆ จนกระทั่งปี พ.ศ. 2510 ท่านจึงได้ขึ้นดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัด สัมพันธวงศ์ ท่านจึงมีความประสงค์ที่จะสร้างพระเจดีย์ให้กับวัดในบ้านเกิดของท่าน จึงได้มอบเงินมาให้ทางวัดศรีธรรมารามเบื้องต้นเป็นเงิน 6,000 (หกพันบาทถ้วน) และได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างในปี 2510 ต่อมาในปี 2511 การก่อสร้างได้ก่อสร้างชั้นฐานชั้น 1 แล้ว (ใช้จ่ายเงินไปประมาณ 4,000 บาท) พระมหานรินทร์ เจ้าอาวาสในขณะนั้น ได้ลาสิกขา จึงได้มีขั้นตอนต่าง ๆ ในการสรรหาเจ้าอาวาสใหม่จนกระทั่งได้ หลวงตาพวงท่านมาเป็นเจ้าอาวาส ท่านจึงได้ดำเนินการในการจัดหาทุนและดูแลการก่อสร่างต่อจนแล้วเสร็จ ใช้เงินในการก่อสร้างประมาณ 200,000 (สองแสนบาท) และได้จัดงานฉลองในเดือน มีนาคม 2514 พระเทพปัญญามุนี ท่านได้มรณภาพ ในเดือน มิถุนายน 2510 ในปีเดียวกับที่มีงานฉลองพระบรมเจดีย์ศรีโสธรนั่นเอง
-------------------------------------------------------------------------

ภาพเหรียญที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานเป็นที่ระลึก เมื่อครั้งเสด็จมายังอำเภอยโสธร 2498 เหรียญนี้ ได้มาจากคุณย่า คือ นางทองพูล ครุสันธิ์ (นามสกุลเดิม แซ่จัน) ซึ่งท่านเป็นภริยาของ นายเหลือ ครุสันธิ์ ซึ่งเป็นเจ้าของภาพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จอำเภอยโสธร ที่ประกฎ ในหนังสือ เบิ่งเมืองยศสุนทร ครับ (อนึ่งท่านเป็นลูกสาวของนายหมาเซียะ แซ่จัน ที่เป็นผู้สร้างสะพานข้ามคุ้มบ้านท่า – วัดศรีธรรม ตามที่ปรากฏในหนังสือ “เบิ่งเมืองยศสุนทร” )

โครงการ "ถนนคนเดิน" ย่านเมืองเก่าบ้านสิงห์ท่า

โครงการถนนคนเดินย่านเมืองเก่าบ้านสิงห์ท่า
Walking Street at Ancient Town

ชมรมอนุรักษ์มรดกยโสธร ร่วมกับเทศบาลเมืองยโสธร ดำเนินกิจกรรม "โครงการถนนคนเดินย่านเมืองเก่าบ้านสิงห์ท่า" โดยจะจัดกิจกรรมทุกวันศุกร์ที่ 2 ของทุกเดือน
เริ่มดำเนินงานเดือนมีนาคม 2554 นี้ เป็นครั้งแรก

กิจกรรม
- ในช่วงเช้ามีการตักบาตรย้อนยุค
- ตลาดสดจำหน่ายผลิตภัณฑ์อินทรีย์ - พืชผักปลอดสารพิษ ซึ่งขึ้นชื่อของจังหวัดยโสธร

- ในช่วงบ่าย 3 โมงเย็นเป็นต้นไป จัดกิจกรรมถนนคนเดิน จับจ่ายสินค้าทำมือ สินค้าพื้นเมือง ภูมิปัญญาพื้นบ้าน สินค้าตลาดนัดทั่วไป เลือกซื้ออาหารโบราณเลื่องชื่อ ภายใต้บรรยากาศเมืองเก่าบ้านสิงห์ท่า

โครงการตักบาตรย้อนยุค


โครงการตักบาตรย้อนยุค


โครงการตักบาตรย้อนยุค ณ บริเวรณย่านเมืองเก่าบ้างสิงห์ท่าดำเนินกิจกรรมต่อเนื่อง

ในวันขึ้นปีใหม่ 1 มกราคม 2554 ชาวยโสธรนำโดยผู้ว่าราชการจังหวัดและนายกเทศมนตรีร่วมตักบาตรเป็นสิริมงคลรับวันปีใหม่

ชมรมฯ ส่งเสริมการตักบาตรย้อนยุคดำเนินกิจกรรมทุกวันสำคัญทางพุทธศาสนา หรือวันที่เป็นสิริมงคลประจำเดือน อย่างน้อยเดือนและ 1 ครั้ง โดยส่งเสริมการตักบาตรย้อนยุค ด้วยชุดไทยพื้นถิ่นอีสาน มีผ้าเบี่ยง


การตักบาตร ในแบบดั้งเดิมจะนิยมนั่งลงกับพื้นปูเสื่อ ถอดรองเท้า ยกกระติบข้าวเหนียวขึ้นอธิษฐานอุทิศส่วนบุญส่วนกุศล แล้วเปิดกล่องข้าวเหนียว ก่อนปั้นข้าวเหนียวใส่บาตรจะยกปั้นข้าวเหนียวขี้นอธิษฐานอีกครั้งก่อนใส่ พอใส่บาตรเสร็จจะรับศีลรับพรจากพระภิกษุ

* ตักบาตรครั้งต่อไปวันมาฆบูชา 18 กุมภาพันธ์ 2554

Wednesday, January 19, 2011

ประวัติความเป็นมา "จังหวัดยโสธร"

"จังหวัดยโสธร"

ข้อมูลทั่วไป
จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอาณาเขตทิศเหนือ จด จ.นครพนม และ จ.ร้อยเอ็ด ทิศตะวันออก จด จ.อุบลราชธานี ทิศใต้ จด จ.ศรีษะเกษ ทิศตะวันตก จด จ.ร้อยเอ็ด ภูมิประเทศทางตอนเหนือมีภูเขาขนาดเล็ก สลับซับซ้อนกันหลายจุดและเป็นป่าทึบ ส่วนมากเป็นป่าสงวน ทางตอนตะวันตก และตอนตะวันออก ส่วนมากเป็นที่ราบและมีลักษณะเป็นป่าโปร่ง ทางตอนใต้เป็นที่ราบลุ่มมีหนองบึง

ความเป็นมา
เมืองยโสธร เป็นดินแดนอันอุดมสมบูรณ์ริมฝั่งแม่น้ำชี ได้ชื่อว่าเมืองบั้งไฟ เป็นดินแดนที่มีอดีตอันล้ำค่าและยาวนานกว่า 200 ปี ยโสธร มีประวัติความเป็นมาอันยาวนานเกี่ยวพันกับเมืองหนองบัวลุมภู นครเขื่อนขัณฑ์กาบแก้วบัวบาน และเกี่ยวพันกับเมืองอุบลฯ ในเขตพื้นที่จังหวัดยโสธร ได้พบร่องรอยการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์

จากยุคประวัติศาสตร์ต่อเนื่องกันมาจนถึงยุคปัจจุบัน ชุมชนโบราณส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเขตทุ่งราบโล่ง
หรือบริเวณขอบชายทุ่ง ติดกับพื้นที่โคกและป่า ได้แก่ชุมชนโบราณชายขอบทุ่งกุลาร้องไห้ ในเขตอำเภอมหาชนะชัยและอำเภอค้อวัง เช่น ชุมชนโบราณที่บ้านหัวเมือง บ้านคูเมือง บ้านคูสองชั้น ในเขตอำเภอมหาชนะชัย ชุมชนโบราณบ้านน้ำอ้อม บ้านโพนแพง บ้านหมากมาย บ้านแข้ บ้านโพนเมือง ในเขตอำเภอค้อวัง

ประมาณปีพุทธศักราช 2314 พระเจ้าตา เจ้าพระวอ เสนาบดีเก่านครเวียงจันทน์ อพยพครอบครัวและบริวารหนีมาเพื่อตั้งรกรากใหม่ เนื่องจากไม่พอใจเจ้านครคนใหม่ โดยใช้ชื่อเมืองใหม่ว่าเมืองหนองบัวลุมภู ขณะเดียวกัน พระเจ้าศิริบุญสาร ซึ่งเป็นเจ้านครเวียงจันทน์อยู่เกิดหวาดระแวงจึงยกกองทัพจากนครเวียงจันทน์มาปราบปราม พระเจ้าตาถูกข้าศึกยิงด้วยอาวุธปืน และฟันด้วยดาบจนถึงแก่พิราลัยในที่รบ เจ้าพระวอ เจ้าคำผง และเจ้าฝ่ายหน้าผู้เป็นน้องทั้ง 2 ของเจ้าพระวอ อีกทั้งเจ้าก่ำ เจ้าทิดพรมได้ยกทัพฝ่าหนีออกจากเมืองหนองบัวลุมภูไปพึ่งพาเจ้านครจำปาศักดิ์ ขบวนทัพของเจ้าพระวอได้เดินทางตามลุ่มน้ำชีมาพักกับเจ้าคำสูผู้ปกครองบ้านสิงห์ท่า (ปัจจุบัน คือ จังหวัดยโสธร ) ภายหลังต่อมาเจ้าพระวอดำริว่าหากอยู่กับเจ้าคำสูแล้ว ถ้าเวียงจันทน์ยกทัพมาก็จะเป็นการลำบาก และจะเกิดศึกสงครามกันต่อไป เมื่อประชุมตกลงกันแล้วจึงได้พาไพร่พลอพยพลงไปตามลำน้ำมูล และสร้างเมืองใหม่ที่ดอนวังกองเขตนครจำปาศักดิ์ ตามรับสั่งของพระเจ้าองค์หลวงเจ้านครจำปาศักดิ์ โดยเจ้าพระวอให้ขุดคูสร้างค่ายขึ้นเรียกว่าค่ายบ้านดู่บ้านแก

ต่อมาในปี พ.ศ. 2321 เมื่อพระเจ้าศิริบุญสารทราบเรื่อง จึงได้ยกทัพมาปราบอีกจนเจ้าพระวอถึงแก่ความตาย เจ้าคำผงน้องเจ้าพระวอ และบริวารจึงได้อพยพต่อไปยังเกาะกลางลำน้ำมูลเรียกว่าดอนมดแดง แต่เนื่องจากเป็นที่ต่ำไม่เหมาะสม ที่จะสร้างเมืองจึงอพยพขึ้นมาตามลำน้ำมูล ถึงห้วยแจระแมแล้วมาสร้างเมืองใหม่ที่ดงอู่ผึ้ง เมื่อปีกุน พ.ศ. 2322 แล้วมีหนังสือกราบบังคมทูลขอขึ้นอยู่ในขอบขัณฑสีมาของ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช แห่งกรุงธนบุรี จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามเมืองที่ตั้งว่าเมืองอุบล เพื่อเป็นการรำลึกถึงเมืองเดิมของตน(เจ้าคำผง) คือเมืองหนองบัวลุมภู จากนั้นเจ้าคำผงได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นเจ้าเมืองคนแรกของเมืองอุบล และได้รับพระราชทินนามว่าพระปทุมสุรราช หลังจากนั้นต่อมา เจ้าฝ่ายหน้าน้องพระปทุมสุรราชเจ้าเมืองอุบล พร้อมกับนางอูสา ไพร่พลญาติวงศาอีกส่วนหนึ่งได้ขอแยกตัวไปอยู่ บ้านสิงห์ท่าซึ่งเจ้าคำสูปกครองอยู่ พระปทุมสุรราชไม่ขัดข้องจึงได้แยกย้ายกันไปทำมาหากินที่บ้านสิงห์ท่า ได้ปรับปรุงและสร้างบ้านสิงห์ท่าจนเจริญรุ่งเรือง

พ.ศ. 2325 หลังจากที่เจ้าฝ่ายหน้าได้ไปช่วยปราบกบฏอ้ายเชียงแก้วเขาโองที่นครจำปาศักดิ์ ตามใบบอกของพระปทุมสุรราช เจ้าฝ่ายหน้าก็ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น เจ้าพระยาพิชัยราชขัตติยวงศา ครองนครจำปาศักดิ์ตามบัญชาของ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

ในปี พ.ศ. 2334 ทางเมืองนครจำปาศักดิ์เกิดขบถอ้ายเชียงแก้วเขาโอง ตั้งตัวเป็นใหญ่ ยึดเมืองนครจำปาศักดิ์ได้ พระปทุมสุรราชเจ้าเมืองอุบลฯ จึงได้มีใบบอกไปยังฝ่ายหน้าผู้น้อง ให้ร่วมกันยกกำลังไปปราบอ้ายเชียงแก้วเขาโอง ทั้งสองพี้น้องได้ยกกำลังไปตีเมืองนครจำปาศักดิ์กลับคืนมาได้ ก่อนที่กองทัพเมืองนครราชสีมาจะยกมาถึง และให้เจ้าฝ่ายหน้าติดตามจับอ้ายเชียงแก้วเขาโองได้ แล้วประหารชีวิตเสีย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้สถาปนาเจ้าฝ่ายหน้าขึ้นเป็นเจ้า มีพระราชทินนามว่า เจ้าพระยาพิชัยราชขัติยวงศาเจ้านครจำปาศักดิ์ ให้ย้ายจากบ้านสิงห์ท่า ไปอยู่เมืองนครจำปาศักดิ์ ทางบ้านสิงห์ท่าได้ให้ท้าวคำม่วงผู้เป็นน้องชายปกครองแทน

พ.ศ. 2354 เจ้าพระยาพิชัยราชขัตติยวงศาถึงแก่พิราลัย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดให้เจ้าหนู หลานเจ้านครจำปาศักดิ์ ครองนครจำปาศักดิ์สืบไป ฝ่ายเจ้าราชวงศ์สิงห์ บุตรเจ้าพระยาพิชัยราชขัตติยวงศา กลับมาอยู่บ้านเดิมคือบ้านสิงห์ท่า และได้นำเอาอัฐิของเจ้าพระยาพิชัยราชขัตติยวงศา กลับมาด้วย แนะนำมาก่อเจดีย์บรรจุไว้ที่วัดมหาธาตุ ใกล้กับพระธาตุพระอานนท์ซึ่งยังปรากฏอยู่จนปัจจุบัน

พ.ศ. 2357 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านสิงห์ท่าขึ้นเป็นเมืองและพระราชทานนามว่า เมืองยศสุนทร ให้เจ้าราชวงศ์สิงห์เป็นเจ้าครองเมืองมีราชทินนามว่า พระสุนทรราชวงศา เป็นเจ้าเมืองคนแรกของเมืองยโสธร

(คำว่า ยศสุนทร ต่อมากลายเป็นยะโสธร มีความหมายว่า ทรงไว้ซึ่งยศ แต่การเขียนหรือการเรียกสั้น ๆ ว่า ยะโส ไม่เป็นที่ไพเราะหูและไม่เป็นมงคลนาม ร.ต.ท.พวง ศรีบุญลือ นายอำเภอยะโสธร (พ.ศ. 2500 - 2513) ได้มีหนังสือขอให้เขียนชื่อเสียใหม่เป็น "ยโสธร" และได้รับอนุญาตจากกระทรวงมหาดไทย โดยความเห็นชอบของราชบัณฑิตยสถานให้เปลี่ยนได้ และใช้มาจนบัดนี้

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อเกิดศึกเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ เมืองยโสธรก็ได้รับเกณฑ์เข้าร่วมศึกครั้งนี้ด้วยได้ชัยชนะ ได้รับพระราชทานเชลยเมืองเวียงจันทน์ 500 ครอบครัว และพระราชทานปืนใหญ่ไว้สำหรับเมืองหนึ่งกระบอกชื่อว่า ปืนนางป้อง ยังปรากฏอยู่ที่ศาลหลักเมืองยโสธรมาจนถึงปัจจุบัน เมื่อพระสุนทรราชวงศาเห็นได้เป็นเจ้าเมืองแล้ว ได้นำศิลาจากบ้านแก้งหินโงมมาสร้างพระพุทธบาทจำลอง แล้วสร้างวัดป่าอัมพวัน และวัดกลางศรีไตรภูมิไว้เป็นวัดคู่เมือง

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ. 2417 ได้เกิดศึกฮ่อยกกำลังมาตีเมืองหนองคาย เมืองยโสธรถูกเกณฑ์ให้ยกกำลังไปสมทบ กองทัพจากกรุงเทพ ฯ เป็นจำนวน 500 คน ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2426 พวกฮ่อได้ยกกำลังมาตั้งอยู่ที่ทุ่งเชียงคำ เมืองยโสธรได้รับเกณฑ์ให้เอากำลังช้างม้าโคต่างๆ ไปเป็นพาหนะบรรทุกเสบียงไปเลี้ยงกองทัพ

พ.ศ. 2433 สมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการจัดรูปการปกครองใหม่ หัวเมืองอีสานชั้นเอก โท ตรีและจัตวา ถูกรวมเข้าด้วยกันเรียกว่า กอง สำหรับเมืองยโสธรถูกรวมเข้าอยู่ในหัวเมืองฝ่ายตะวันออกเฉียงเหนือ มีข้าหลวงตั้งกองว่าราชการอยู่ที่เมืองอุบล ประกอบด้วยหัวเมือง 12 หัวเมือง คือ อุบลราชธานี กาฬสินธุ์ สุวรรณภูมิ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ภูแล่นช้าง กมลาไสย เขมราฐ นองสองคอนดอนดง ยโสธร และศรีสะเกษ ซึ่งขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ

ในปี พ.ศ. 2436 เกิดกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ฝรั่งเศสได้ยกกำลังจากเมืองญวนมาตีเมืองสมโบกของไทย เมืองยโสธรได้ถูกเกณฑ์ให้ไปช่วยรักษาเขตแดน โดยนำกำลังไปสมทบกองทัพจากกรุงเทพ ฯ สามกองทัพ กองทัพละ 1,000 คน

พ.ศ. 2443 ได้ยุบเลิกมณฑลอีสาน เมืองยโสธรได้รวมเข้ากับเมืองอุบล โดยแยกออกเป็น 2 อำเภอ คือ อำเภออุทัยยโสธร ภายหลังเป็นอำเภอ คำเขื่อนแก้ว และอำเภอประจิมยโสธร ภายหลังเป็นอำเภอยโสธร

ใน ปี พ.ศ. 2456 ได้เปลี่ยนชื่ออำเภออุทัยยโสธร เป็นอำเภอคำเขื่อนแก้ว เปลี่ยนชื่ออำเภอปจิมยโสธร เป็นอำเภอยโสธร เมืองยโสธร จึงลดฐานะจากเมืองมาเป็นอำเภอ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

พ.ศ. 2494 กระทรวงมหาดไทยได้ริเริ่มขอตั้งอำเภอยโสธรขึ้นเป็นจังหวัด จนกระทั่งถึงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2515 จึงได้มีประกาศ คณะปฏิวัติ ฉบับที่ 70 ตั้งอำเภอยโสธรขึ้นเป็นจังหวัดยโสธร โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2515 โดยแยกอำเภอยโสธร อำเภอคำเขื่อนแก้ว อำเภอมหาชนะชัย อำเภอป่าติ้ว อำเภอเลิงนกทา และอำเภอกุดชุม ของจังหวัดอุบลราชธานี รวมกันเป็นจังหวัดยโสธร จังหวัดที่ 71 ของประเทศไทย

สถานที่ท่องเที่ยว
สิ่งสำคัญในจังหวัดนี้มีโบราณสถาน และโบราณวัตถุคือ ธาตุก่องข้าวน้อย ที่ ต.ตาดทอง อ.เมือง เจดีย์วัดมหาธาตุ เชื่อกันว่าบรรจุของพระอานนท์อยู่ที่วัดมหาธาตุ อ.เมือง ฯ พระนอนภูถ้ำพระ ต.กุดเชียงหมี อ.เลิงนกทา

รายการอ้างอิง
- สารานุกรมไทย เล่ม ๒๔ แมลง - ราชนีติ ลำดับที่ ๔๕๒๑ - ๔๖๘๖ ๒๔/ ๑๕๒๐๑ - ๑๕๘๔๐
http://www1.tv5.co.th/service/mod/heritage/nation/dictionary/dict24.htm
- เว็บไซต์จังหวัดยโสธร http://www.yasothon.go.th/a_province.html
- http://www.baanjomyut.com/76province/northeast/yasothon/history.html